ประวัติภาควิชา

Timelines

2506

พุทธศักราช

จัดตั้งเป็นแผนกวิชาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
2514คณะฯเริ่มร่างหลักสูตรการผังเมือง
2519จัดตั้งเป็นภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง
เปิดรับนิสิตระดับปริญญาโทรุ่นแรกในหลักสูตรมหาบัณฑิตทางผังเมือง
โดยนิสิตที่เข้าศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาผังเมืองมหาบัณฑิต (Master of Urban Planning) ใช้ตัวย่อ ผ.ม. หรือ M.U.P.
2537เปิดสอนหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาการวางแผนภาคและเมือง
2547เปิดรับนิสิตระดับปริญญาตรีรุ่นแรก ในหลักสูตรการวางผังเมืองบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง โดยนิสิตที่เข้าศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาการวางผังเมืองบัณฑิต (Bachelor of Urban Planning) ใช้ตัวย่อ ผ.บ. หรือ B.U.P.
2551ปรับปรุงหลักสูตรหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตทางผังเมือง จากเดิมที่มีอยู่ 3 สาขาวิชา ได้แก่ การวางแผนภาค การวางผังเมือง และการวางผังชุมชน รวมเป็นสาขาวิชาการวางแผนภาคและเมือง
2552ปรับปรุงหลักสูตรสถาปัตยกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง เป็นหลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนภาคและเมือง และสาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง
2558ปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตเป็นหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง โดยนิสิตที่เข้าศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Architecture) ใช้ตัวย่อ สถ.บ. หรือ B.Arch.
2561ปรับปรุงหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตใหม่เป็นหลักสูตรต่อเนื่อง ภายใต้ชื่อสาขาวิชาการวางผังและออกแบบเมือง

ภาควิชาผังเมือง ได้จัดตั้งเป็นแผนกวิชาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 โดยมี รองศาสตราจารย์เอื้อม อนันตศานต์ เป็นหัวหน้าแผนก เริ่มแรกได้ช่วยทำการสอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิชาผังเมือง ให้แก่นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 4 และ 5 ของคณะฯ โดยที่วิชาผังเมืองเป็นวิชาหนึ่งของหลักสูตรปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์

ในต้นปี 2514 คณะได้ดำเนินการร่างหลักสูตรการผังเมืองโดยตั้งอนุกรรมการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีสำหรับสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองขึ้น โดยเปิดสอนวิชาผังเมือง โดยให้นิสิตแยกสายศึกษาต่อหลังจากจบอนุปริญญาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปริญญาที่ให้คือ Bachelor of Architecture (City Planning) หรือ สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (ผังเมือง) โดยมีโครงการเปิดสอนในปีการศึกษา 2516-2517

ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรหลายครั้ง และใน พ.ศ. 2515 พบว่า แบบร่างหลักสูตรฉบับแก้ไขนั้นเป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหญ่ไปเรียนทางวิชาการผังเมืองทั้งหมด เพราะการศึกษาวิชาผังเมืองในระยะ 2 ปีหลังจากนิสิตจบอนุปริญญา นิสิตจะมีความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอไปปฏิบัติงานผังเมือง ดังนั้น กรรมการจึงได้ร่างหลักสูตรใหม่ โดยกำหนดให้ศึกษาหนักไปทางด้านผังเมืองทั้งหมด โดยให้เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นปี 1 ถึงปี 4 เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของคณะที่ต้องการผลิตนักผังเมืองโดยตรง โดยพบว่าโครงการสอนผังเมืองโดยตรงตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 5 นั้นควรตั้งเป็นอีกหลักสูตรหนึ่ง แยกออกจากสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังนั้นจึงได้ร่างหลักสูตรโดยกำหนดทางเลือกไว้ 3 ทางคือ

ก. โครงการปริญญาตรีทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ (วิชาเอกทางผังเมือง)

ข. โครงการปริญญาตรีทางผังเมือง

ค. โครงการปริญญาโททางผังเมือง

หลังจากได้มีการแก้ไขและร่างหลักสูตรหลายครั้ง แผนกวิชาผังเมืองก็ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนในระดับปริญญามหาบัณฑิต ตามแผนการพัฒนาการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 4

ดังนั้นแผนกวิชาผังเมืองจึงดำเนินการร่างหลักสูตร และจัดเตรียมบุคคลากร และได้เปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาตามโครงการรุ่นแรกในปีการศึกษา 2519 แนวทางในการศึกษาเป็นลักษณะประสานสหสาขาวิชาเข้าด้วยกัน (interdisciplinary) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชุมพล สุรินทราบูรณ์ เป็นหัวหน้าภาควิชา นิสิตที่รับเข้าศึกษาเป็นนิสิตจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากแขนงวิชาต่างๆ (multi-disciplinary) กำหนดระยะเวลาศึกษา 2 ปี มีจำนวนหน่วยกิตตามหลักสูตร 54 หน่วยกิต ซึ่งเป็นวิชาเรียน 42 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต ปริญญาที่ได้คือ ปริญญาผังเมืองมหาบัณฑิต ใช้ตัวย่อ ผ.ม. หรือ M.U.P. ( Master of Urban Planning)

ภายหลังจากที่เปิดหลักสูตรผังเมืองมหาบัณฑิต ภาควิชาได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรมาโดยตลอด นอกจากนี้ มีการเพิ่มหลักสูตรในระดับปริญญาตรีขึ้นในปี 2547